ปัญหาการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้าง ถือเป็นปัญหาที่มีมาช้านานครับ ซึ่งเมื่อเกิดปัญหาแบบนี้ขึ้นก็นำมาซึ่งความขัดแย้ง ความสูญเสียทั้งคนและช้างมาโดยตลอด เมื่อไม่กี่วันก่อนก็มีเพื่อนสมาชิกรัฐสภาได้หยิบยกเรื่องปัญหาช้างป่าทำร้ายพี่น้องประชาชนเสียชีวิตหลายรายในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีขึ้นมาสอบถามในสภา
ต้องเรียนพี่น้องประชาชนว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั้นมิได้นิ่งนอนใจในการแก้ไขปัญหาการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้างเลยครับ เราได้มีการตั้งศูนย์เฝ้าระวังช้างป่าด้วยระบบเตือนภัยล่วงหน้า ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จับมือ กลุ่มบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) และองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล ประเทศไทย (WWF) WWF โดยนำเทคโนโลยี IOT มาเสริมศักยภาพในการบริหารจัดการความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง
โดยกลุ่มบริษัท ทรู ได้ใช้เทคโนโลยีการสื่อสารร่วมกับการใช้กล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ (camera trap) และพัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้า (Early Warning System) ในคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟนแบบเรียลไทม์ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ในการเฝ้าระวังช้างป่าออกนอกพื้นที่ ซึ่งการปฏิบัติงานในพื้นที่กุยบุรีนั้นสามารถผลักดันช้างให้กลับเข้าป่าได้เกือบ 100% ครับ
ปัจจุบันทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำลังผลักดันให้เกิดการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารดังกล่าวหรือที่เรียกว่า "กุยบุรีโมเดล” ในพื้นที่ต่างๆ เพื่อลดการเกิดปัญหาระหว่างคนกับช้างครับ
อย่างไรก็ตามแม้จะมีระบบป้องกันที่ดีแค่ไหน แต่เราต้องไม่ลืมครับว่าการขยายตัวของชุมชนเข้าไปยังพื้นที่ต่างๆ ซึ่งเคยเป็นป่านั้นเป็น 1 ในปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกันระหว่างคนกับช้างมากขึ้น เหมือนกับเราเข้าไปยังบ้านของช้างครับ นอกจากนี้การสร้างความอุดมสมบูรณ์และเพิ่มพื้นที่ป่านั้นก็ถือเป็นสิ่งสำคัญในการแก้ไขปัญหาระหว่างคนกับช้างอย่างยั่งยืน เนื่องจากช้างนั้นออกจากป่ามาสู่พื้นที่เกษตรของมนุษย์เพราะเขาต้องการอาหารครับ หากเรามีพื้นที่ป่าที่มากขึ้น มีความอุดมสมบูรณ์เพียงพอ การออกมาจากป่าของช้างก็จะลดลงเช่นกันครับ
เราจึงต้องร่วมมือกันเพื่อสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับป่าไม้ และเพิ่มพื้นที่ป่าเพื่อการแก้ไขปัญหาระหว่างคนกับช้างให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืนครับ
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
พรรคชาติไทยพัฒนา
สุพรรณบุรีเอฟซี